เจ้าบ้าน และ เจ้าของบ้าน แตกต่างกันอย่างไร
หากใครสังเกตในทะเบียนบ้านมักจะมีคำว่า เจ้าบ้าน ปรากฎอยู่ แน่นอนว่ายังมีหลายคนที่ไม่เข้าใจหน้าที่ที่แท้จริงของเจ้าบ้านนั้นคืออะไร แตกต่างอย่างไรกับเจ้าของบ้าน โดยสามารถแยกบทบาทและสิทธิทางกฎหมายได้ดังนี้
ความหมายเจ้าบ้าน VS เจ้าของบ้าน
เจ้าบ้าน หมายถึง ผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครองบ้านในฐานะที่เป็นเจ้าของ ผู้เช่า และอื่นๆ โดยหากในทะเบียนบ้านไม่มีชื่อเจ้าบ้าน หรือผู้ที่ถูกแต่งตั้งเป็นเจ้าบ้าน เกิดเสียชีวิต ผู้มีหน้าที่ดูแลบ้านสามารถมาเป็นเจ้าบ้านแทนได้
เจ้าของบ้าน หมายถึง เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่มีชื่อในโฉนดที่ดิน สัญญาซื้อขาย
หน้าที่เจ้าบ้าน VS เจ้าของบ้าน
เจ้าบ้าน มีหน้าที่ตาม พ.ร.บ. การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 อาทิ แจ้งเกิด-ตาย ย้ายที่อยู่ ขอเลขที่บ้าน หรือเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับบ้าน ซึ่งสามารถสรุปหน้าที่ของเจ้าบ้านได้ดังต่อไปนี้
-แจ้งคนเกิดในบ้าน
-แจ้งคนตายในบ้าน
-แจ้งคนย้ายเข้า-ย้ายออก
-สร้างบ้านใหม่หรือรื้อถอน
-ขอเลขที่บ้าน
เจ้าของบ้าน มีหน้าที่ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นผู้มีสิทธิ์ในการขาย โอน บ้านและที่ดินหลังนั้น ทั้งนี้สามารถโอนถ่ายให้ลูกหลานเป็นเจ้าของบ้านได้
ซื้อบ้านหลายหลัง ชื่อในทะเบียนบ้านทำอย่างไร
เรื่องนี้ถือว่าค่อนข้างสำคัญสำหรับคนที่มีบ้านหลายหลัง โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนอสังหาฯ แน่นอนว่าคนเหล่านี้จะมีทะเบียนบ้านหลายฉบับ แต่ทางกฎหมายจำเป็นต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านได้เพียงฉบับเดียวเท่านั้น โดยสามารถใช้ชื่อฐานะเจ้าบ้านหรือผู้ดูแลบ้านได้ เนื่องจากตามกฎหมายไม่อนุญาตให้บุคคลเดียวกันมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านมากกว่าหนึ่งฉบับในเวลาเดียวกัน เพราะจะกระทบต่อบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ดังนั้นนักลงทุนอสังหาฯ หรือกลุ่มคนทำงานที่ซื้อบ้าน ซื้อคอนโด สามารถใช้วิธีนำชื่อของญาติ พ่อแม่ พี่น้องมาใส่ในทะเบียนบ้านหลังอื่นๆ ได้
ชื่อในทะเบียนบ้านสามารถปล่อยว่างได้หรือไม่
หลายคนอาจสงสัยว่าจากกรณีข้อที่ 2 หากไม่สามารถหาชื่อญาติ พ่อแม่ พี่น้อง มาใส่ในทะเบียนบ้านได้ สามารถทำให้ชื่อในทะเบียนปล่อยว่างได้หรือไม่ กรณีดังกล่าวสามารถทำได้ แต่ถ้าเกิดวันหนึ่งอยากขายบ้าน ขายคอนโดขึ้นมาและถือครองอสังหาฯ นั้นไม่ถึง 1 ปี จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามที่กฎหมายกำหนด คือ "พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 กำหนดให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับ การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยโดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 1 ปี นับแต่วันได้มา ดังนั้นหากท่านที่ขายอสังหาฯ ไปโดยไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ"
วิธีแจ้งชื่อย้ายเข้า-ย้ายออกทะเบียนบ้านทำอย่างไร
การย้ายทะเบียนบ้านเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คนที่ซื้อบ้านหรือคอนโดใหม่ และกำลังมีแผนย้ายบ้านต่างตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับขั้นตอน เอกสาร รวมถึงข้อกำหนดทางกฎหมาย ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
แจ้งชื่อย้ายออกทะเบียนบ้าน การแจ้งชื่อย้ายออกทะเบียนบ้านจะเป็นหน้าที่ของเจ้าบ้าน ซึ่งจำเป็นต้องย้ายออกภายใน 15 วัน หากเกินตามระยะเวลาที่กำหนด ตามกฎหมายกำหนดให้มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท โดยเจ้าบ้านสามารถยื่นเอกสารกับนายทะเบียนท้องที่ของทะเบียนบ้านเดิม ซึ่งจะผ่านการตรวจสอบเอกสารจากนายทะเบียนก่อนมีการประทับ ย้าย หน้าเอกสาร พร้อมมอบเอกสารแจ้งย้ายเข้าต่อไป สำหรับเอกสารที่ใช้ย้ายออกทะเบียนบ้านมี ดังนี้
-สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน)
-บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน
-หนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้าน (กรณีผู้แจ้งย้ายไม่ใช่เจ้าบ้าน)
-บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้าน (กรณีมอบหมาย)
-บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ย้ายที่อยู่กรณีแจ้งย้ายที่อยู่ของตนเอง
แจ้งชื่อย้ายเข้าทะเบียนบ้าน หลังจากเจ้าบ้านแจ้งเรื่องย้ายออกจากทะเบียนบ้านหลังเดิมแล้ว เจ้าบ้านจำเป็นต้องแจ้งชื่อย้ายเข้าทะเบียนบ้านหลังใหม่ภายใน 15 วัน หากไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด จะมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท โดยต้องยื่นเอกสารให้กับนายทะเบียนท้องที่ที่ย้ายเข้า หลังจากนายทะเบียนตรวจสอบแล้วจะทำการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน และสำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน) ซึ่งมีเอกสารสำหรับย้ายเข้าทะเบียนบ้าน ดังนี้
-สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน)
-บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน
-หนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้าน (กรณีผู้แจ้งย้ายไม่ใช่เจ้าบ้าน)
-บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้าน
-ใบแจ้งการย้ายที่อยู่ (ท.ร. 6) ตอนที่ 1 และ 2 โดยเจ้าบ้านลงนามยินยอมให้ย้ายเข้าแล้ว
ทะเบียนบ้านหายต้องทำอย่างไร
สำหรับกรณีของทะเบียนหาย น่าจะเป็นสถานการณ์ที่พบบ่อยสำหรับนักลงทุนที่มีคอนโดหลายห้อง หรือคนที่ซื้อบ้านไว้ให้เช่าหลายหลัง และถ้าเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นสามารถยื่นคำร้องกับฝ่ายทะเบียน พร้อมแนบเอกสารหลักฐานได้ดังต่อไปนี้
-บัตรประจำตัวประชาชนเจ้าบ้าน
-กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทน จะต้องมีบัตรประจำตัวของผู้มอบและผู้รับมอบหมาย หนังสือผู้มอบหมาย ค่าธรรมเนียมในการออกเล่มใหม่ฉบับละ 20 บาท